ตำนานการศึกษาในสยาม
มนุษย์เรารู้จักการศึกษา หรือการเล่าเรียนมานานแล้ว น่าจะพูดได้ว่า มีมาตั้งยุคสมัยหิน หรืออย่างช้า ก็ตั้งแต่ยุคแรกของยุคประวัติศาสตร์ เพียงแต่ว่าในเวลานั้น เป็นการเล่าเรียนประเภทถ่ายทอดความรู้ จากผู้ทรงความในเรื่องนั้น ๆ โดยตรง ระบบการศึกษา ที่ถ่ายทอดความรู้ ให้กันอย่างเป็นระบบ อย่างโรงเรียนนั้น มาเกิดทีหลังมากในประเทศไทย
สมัยสุโขทัย
การศึกษาในรูปแบบโรงเรียนของสยามประเทศนั้น เพิ่งจะเกิดขึ้น อย่างเป็นทางการ ก็เมื่อในรัชกาลพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ เป็นต้นมา เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว การศึกษาของสยามก่อนหน้านั้น จะเป็นอย่างไร ?
ซึ่งหลักฐานที่แน่นอนถูกต้องตามความเป็นจริงในเรื่องนี้ ก็มีอยู่ไม่มากนัก และเท่าที่มีอยู่ ก็เป็นแค่การสันนิษฐานเอากันเะองในรุ่นหลัง ๆ นี่เอง โดยอาศัยหลักฐานแวดล้อมจากพงศาวดารหลายฉบับ
แต่ถึงกระนั้นก็สามารถหาคำตอบได้ว่า สถานศึกษาของไทยในสมัยกรุงสุโชทัย นั้น พอที่จะแยกออกมาได้เป็น 4 แห่งกัน คือ
วัง สำนักราชบัณฑิต และบ้าน
วัง การศึกษาในวังนั้น ก็เป็นเรื่องของสถาบันกษัตริย์โดยตรง ผู้ที่จะมีโอกาส ศึกษาในสถานศึกษาในรั้วในวังได้ ถ้าไม่ใช่พระราชโอรส ก็ต้องเป็นเชื้อพระวงศ์ อันดับรองลงมานั่นเอง ผู้ที่เป็นครูสอนก็ได้แก่ พราหมณ์ปุโรหิต และพระภิกษุ ที่ใกล้ชิดพระราชวงศ์ หรือได้รับการคัดสรรมาอย่างดี วิชาความรู้ที่ใกล้เล่าเรียน นอกจากวิชาหนังสือแล้ว ถ้าเป็นผู้ชายก็ต้องเป็นวิชาที่เหมาะสำรับชนชั้นกษัตริย์ เช่น การปกครองอย่างพระธรรมนูญศาสตร์ วิชาการต่อสู้สำหรับนักรบ วิชาคาถาอาคม รวมถึงตำรับตำราพิชัยสงคราม แต่ถ้าเป็นผู้หญิง ก็ต้องเรียน เรื่องการเรือน การเย็บปักถักร้อย
สำนักราชบัณฑิต เป็นสถานที่ศึกษาของบรรดาลูกหลานเจ้านายเชื้อพระวงศ์ และบรรดาลูกหลานของขุนนางข้าราชบริพาร ลูกหลานคหบดี วิชาที่สั่งสอน เล่าเรียนกันนั้น ก็มีทั้งด้านหนังสือภาษาไทย ขอม มอญ การเรียนตำราเฉพาะด้าน ในเรื่องต่าง ๆ ตามความรู้ความชำนาญของอาจารย์ในแต่ละสำนัก อาจารย์ในสำนักนี้ส่วนใหญ่จะเป็นพวกพราหมณ์และเหล่านักปราชญ์ราชบัณฑิต
|
วัด เป็นสถานศึกษาของไทยในอดีต
|
บ้าน การศึกษานั้นก็เห็นจะได้แก่การอบรมกุลบุตรกุลธิดาตามบ้านขุนนาง หรือ คหบดีผู้ที่มีหน้าที่สอนกุลบุตรกุลธิดาก็คงได้แก่ ผู้เฒ่าผู้แก่ ผู้อาวุโสในบ้านเป็นหลัก หรือผู้ที่มีความสามารถที่ได้เชื้อเชิญจ้างมาสอนบุตรหลาน แต่การเรียนภายในบ้าน ถ้าเป็นผู้เยาว์วัยก็คงสอนแค่วิชาหนังสือพออ่านออกเขียนได้ ต่อจากนั้น จึงจะได้ส่งบุตรที่เป็นผู้ชายไปเรียนหนังสือที่วัด หรือสำนักราชบัณฑิตต่อไป ถ้าเป็นลูกหลานที่โตหน่อยก็ต้องเล่าเรียนวิชาอาชีพอันเป็นอาชีพหลักของครอบครัว นั้น ๆ อย่างเช่นครอบครัวช่างทอง ก็เรียนทำทอง ครอบครัวช่างเหล็ก ก็เรียนการตีเหล็กทำดาบ เป็นต้น
วัด แต่ที่กล่าวถึงมาทั้งหมดนี้ ก็ยังหาใช่แหล่งความรู้หลักของคนทั่ว ๆ ไปไม่ เพราะเป็นการเล่าเรียนเฉพาะในวงแคบ ๆ สำหรับชนในชั้นนั้นหรือครอบครัวนั้น ซึ่งสถานศึกษาที่สำคัญที่สุดและเป็นต้นกำเนิดของโรงเรียนอย่างแท้จริง เป็นสถานที่การเล่าเรียนหาความรู้ของชนทุกชนชั้นอย่างแท้จริง สถานที่ที่ว่านี้ ก็คงหนีไม่พ้นสำนักสงฆ์ ซึ่งได้พัฒนากลายมาเป็น วัด ในตอนปลายสมัยสุโขทัย เหตุนี้เองลูกผู้ชายไทยในสมัยสุโขทัย และในสมัยต่อมา จึงต้องอาศัยวัด เป็นสถานที่เล่าเรียนกับพระสงฆ์องค์เจ้าเป็นหลักใหญ่
วิชาที่เล่าเรียนกันในวัดนั้น ส่วนใหญ่ก็จะเป็นการเรียนหนังสือไทย มอญ และขอม รวมทั้งการอบรมสั่งสอนจริยธรรม และเล่าเรียนคัมภีร์ทางศาสนา ทั้งกุลบุตรที่บิดามารดานำมาฝากฝั้งเป็นศิษย์วัด สามเณร รวมทั้งภิกษุอีกด้วย การสอนก็สอนกันไปตามความสามารถและภูมิปัญญาของพระสงฆ์ในวัดนั้น ๆ อีกประการหนึ่ง การศึกษาของกุลบุตรนั้นก็คือ การเล่าเรียนเพื่อเตรียมตัวที่จะบวช เป็นสามเณร และภิกษุตามขนบประเพณีเมื่อถึงวันอันควร
สมัยอยุธยา
ในสมัยอยุธยา การปกครองได้เริ่มมีการจัดระเบียบให้เป็นแบบแผนขึ้น ตั้งแต่สมัยพระเจ้าอู่ทองตั้งกรุงศรีอยุธยา และได้ถูกจัดระบบการปกครองให้รัดกุมขึ้น ในสมัยพระบรมไตรโลกนาถและในรัชกาลต่อ ๆ มาอีกหลายครั้ง ทำให้เกิดระบบ ศักดินาขึ้น มีการแบ่งชั้นวรรณะอย่างฃัดเจนขึ้น ในขณะที่สมัยสุโขทัย ไม่มีการแบ่ง เมื่อสภาพของสังคมเปลี่ยนไปแนวความคิดของคนไทยก็เปลี่ยนไปด้วย
ในด้านของการศึกษานั้นก็แตกต่างไปจากสมัยสุโขทัยไม่น้อยทีเดียว อย่างเช่น ความสำคัญของสถานศึกษา ที่เรียกว่าสำนักราชบัณฑิต ได้ลดถอยลงไป ในขณะเดียวกัน หน้าที่ทางให้การศึกษาไปตกอยู่ที่วัด และพระสงฆ์เป็นหลักใหญ่
โดยที่กุลบุตรที่อยู่วัยเยาว์จะถูกส่งมาอยู่วัด โดยที่ผู้ปกครองจะนำตัวมาฝาก เป็นลูกศิษย์พระ หรือเด็กวัด ให้อยู่กับพระสงฆ์ในวัดใกล้บ้านหรือที่ตนมีความเคารพ นับถือ หรือมีความคุ้นเคยกันดี ซึ่งเด็กนั้นจะได้รับการสอนหนังสือทั้งภาษาไทย ขอม และวิชาอื่น ๆ ตามความรู้ของพระสงฆ์ในวัีดนั้น ๆ เพื่อให้ได้รับการศึกษาเ่าเรียน รวมทั้งการอบรมศีลธรรมจรรยาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ส่วนเด็กนั้น ก็จะมีหน้าที่ปรนนิบัติ รับใช้พระสงฆ์ผู้เป็นอาจารย์ในกิจการต่าง ๆ จนเมื่อกุลบุตรนั้นถึงวัยอันควร ก็จะได้รับการบวชเป็นสามเณร หรืออุปสมบทเป็นภิกษุ เพื่อศึกษาเล่าเรียน ตามประเพณีต่อไป
ในสมัยอยุธยานี้เองที่ได้เกิดประเพณีที่ลูกผู้ชายไทยจะต้องเข้าอุปสมบท ในบวรพุทธศาสนาเมื่ออายุครบบวช หรืออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยและปฏิบัติศาสนกิจเป็นระยะเวลาหนึ่งในระหว่างเข้าพรรษา สามเดือนเป็นอย่างน้อย มิฉะนั้น จะถือว่าบุคคลนั้นยังเป็นคนดิบอยู่ (คำเรียก ผู้ที่ยังไม่บวชเรียน) ส่วนการบวชสามเณรนั้น ก็ถือว่าเป็นการบวชเพื่อเตรียมตัวเข้าสู่ การอุปสมบท นั่นเอง
และการอุปสมบทนั้น ก็ถือได้ว่า เป็นการศึกษาอย่างหนึ่ง ดังที่มีการเรียก การอุปสมบทอีกอย่างหนึ่งว่า "การบวชเรียน" เรียกผู้ที่อุปสมบทว่า "ผู้บวชเรียน" โดยมีพระภิกษุผู้เชี่ยวชาญทางหนังสือ และทางธรรมวินัยเป็นผู้สั่งสอน มีการเรียนหนังสือขอม เรียนบาลี ศึกษาพระธรรมวินัย เป็นประการสำคัญ
อนึ่ง ประเพณีการอุปสมบทกุลบุตรนี้เอง ที่ทำให้เกิดคำเรียกผู้ที่ลาสิกขาบทแล้ว ว่า "ทิด" หรือ "บัณฑิต" (ทิด กร่อนมาจากคำว่า "บัณฑิต" นั่นเอง บัน-ทิต สมัยก่อนอ่านอย่างนี้ ตัดเอาเฉพาะคำหลังคือ "ฑิต") และในสมัยแผ่นดิน พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ก็เกิดประเพณีในราชสำนักว่า ผู้ที่จะถวายตัวเข้ารับราชการ นั้น ต้องเป็นบัณฑิต คือ ผ่านการอุปสมบทมาแล้ว เพราะจะไม่ทรงรับ ผู้ที่ยังมิได้บวชเรียนรับราชการเลย
ซึ่งการศึกษาในวัด จะมีทั้งการอบรมสั่งสอนทั้งด้านจริยศึกษา และพุทธิศึกษา ทีเดียว นอกจากนี้ ในบางวัด ยังได้มีการสอนวิชาพิเศษนอกเหนือไปจากที่กล่าวมา เป็นการเพิ่มเติมตามความสามารถของพระภิกษุในวัดนั้น ๆ อย่างเช่น วัดที่มีพระภิกษุที่มีความรู้ความสามารถในเชิงช่างต่าง ๆ ก็จะมีการสอนวิชาเหล่านั้น ให้ด้วย หรือวัดใดมีพระภิกษุที่มีความรู้ทางวิชาการต่อสู้ทั้งมวยไทย และวิชาอาวุธ ต่าง ๆ ท่านก็จะถ่ายทอดวิชาให้กับผู้เป็นศิษย์ต่อไป และในทำนองเดียวกัน ถ้าวัดใด มีพระภิกษุที่ทรงวิทยาคุณทางคาถาอาคม ก็จะมีถ่ายทอดในด้านนี้เช่นกัน
ซึ่งจากการที่ได้มีการเล่าเรียนวิชาการต่อสู้ในวัดดังกล่าวมาแล้วนี้เอง ที่ได้ทำให้เกิดคลาดเคลื่อนทางข้อมูลในปัจจุบันนี้ จนถึงขนาดมีคนเอาชื่อ วัดพุทไธศวรรย์ มาตั้งเป็นชื่อสำนักดาบ และก็ได้มีการนำเสนอข้อมูลบอกเล่ากันมา ในทำนองว่า "วัดพุทไธศวรรย์ คือ สำนักดาบใหญ่ในสมัยอยุธยา"
แต่ที่ถูกต้องแล้วในสมัยอยุธยา วัดแห่งนี้มิได้เป็นสำนักดาบอย่างแท้จริง ดังที่ได้มีการยืนยันกันนั้น เพียงแต่ว่าในวัดนี้ ได้มีการสอนวิชาเพลงอาวุธกัน และที่มีการสอนวิชาเพลงอาวุธในวัดนี้จนโ่ด่งดัง ก็เนื่องมาจากการที่วัดนี้ มีขุนนาง ฝ่ายทหารที่มีฝีมือทั้งเพลงอาวุธ และตำราพิชัยสงครามมาบวชอยู่ตั้งแต่เริ่มสร้างวัด และในเวลาต่อมา ก็มีอดีตนักรบมาบวชจำพรรษาที่นี่เรื่อยมา เมื่อพระคุณเจ้า มีความสามารถในเรื่องนี้ จึงได้มีผู้นำบุตรหลานมาฝากฝังเรียนวิชาเพลงอาวุธ แต่ถ้าเป็นศิษย์ที่เป็นภิกษุ-สามเณร ก็คงเรียนในเรื่องของตำรับตำราต่าง ๆ ที่เกี่ยวการรบเท่านั้น ท่านคงไม่ห่มผ้าเหลืองมารำดาบ ฟันดาบ เล่นกระบี่กระบอง
ก็คงต้องชี้แจงกันรว่า สมัยอยุธยา "สำนักดาบพุทไธศวรรย์ ไม่มี คงมีแต่ วัดพุทไธศวรรย์" เท่านั้น
โรงเรียนแห่งแรกในสยาม
คนอยุธยาคงอาศัยวัดเป็นที่เล่าเรียนเรื่อยมา จนกระทั่งในรัชสมัย สมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อประเทศสยามได้ติดต่อทางสัมพันธไมตรี และทางการค้าขายกับชาติตะวันตกมากขึ้น สถานศึกษาที่รูปแบบเป็นโรงเรียน ได้เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ
โรงเรียนดังกล่าวนี้ก็คือ ศาลาโรงเรียน หรือ บ้านสามเณรใหญ่ หรือโรงเรียนสามเณร ที่ตั้งอยู่ ณ ตำบลเกาะพราหมณ์ (อยู่ทางตอนเหนือของ กรุงศรีอยุธยา) ผู้ที่ตั้งโรงเรียนแห่งนี้ขึ้นมาก็คือ สังฆราช หลุยส์ ลาโน บาทหลวง ในคณะมิชชันนารีคาทอลิก ฝรั่งเศส ภายในโรงเรียนแห่งนี้ มีผู้เล่าเรียนอยู่ ส่วนใหญ่เป็นสามเณร มีสามเณรเล็ก ประมาณ 30 คนสามเณรใหญ่ ประมาณ 30 คน
ศาลาโรงเรียนนี้ ปรากฏหลักฐานว่า มีวิทยฐานะเทียบเท่าได้กับวิทยาลัย ในมหาวิทยาลัยปารีส วิชาความรู้ การเรียนการสอน ก็ใกล้เคียงกับที่สอนกัน ในวิทยาลัยนั้น คือ วิทยาศาสตร์ ประวัิติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ เทวศาสตร์ และปรัชญา ซึ่งเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องราวของโลกและมนุษย์ ส่วนการเรียนด้านภาษา ที่มีทั้งภาษาลาติน ภาษาฝรั่งเศส ซึ่งในเรื่องเกี่ยวกับศาลาเรียนนี้ ส. ทรงศักดิ์ศรี ได้สรุปเอาไว้ว่า
"...จะเห็นได้ว่าบ้านเณรใหญ่นี้ เปรียบเสมือนมหาวิทยาลัยแห่งแรก ในสยามก็ซ่าได้"
นอกจากนี้ ยังมีหลักฐานระบุอีกว่า ที่ศาลาโรงเรียนนี้เอง สังฆราชลาโน ท่านได้จัดการให้มีการตั้งโรงพิมพ์ และทำการจัดพิมพ์หนังสือขึ้นมาใช้ ในประเทศสยาม
นอกจากนี้ยังมีเรื่องเกี่ยวกับการตั้งโรงเรียนในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ปรากฏข้อมูลอยู่ในหนังสือเรื่อง ความเป็นมาของแบบเรียนไทย ซึ่งจัดทำโดย ฝ่ายห้องสมุด ศูนย์พัฒนาหนังสือ กรมวิฃาการ กระทรวงศึกษธิการ ซึ่งได้กล่าวถึง เรื่องนี้เอาไว้ (หน้าที่ 1) อีกว่า
"สมัยนี้ มีการเรียนการสอนทั้งภาษาไทย และภาษาต่างประเทศ นอกจากบาลี สันสกฤตและเขมรแล้ว ยังมีภาษาฝรั่งเศส พม่า มอญ และจีน ถึงขั้นมีโรงเรียน สอนหนังสือ แต่ก็เป็นโรงเรียนของพวกบาทหลวงที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ คือ โรงเรียนศีอยุธยา โรงเรียนมหาพราหมณ์ วิทยาลัยคอนสแตนติน โรงเรียนสามเณร และวิทยาลัยแห่งชาติ"
จากข้อมูลดัลกว่านี้ ก็ค่อนข้างแปลกกว่าที่ได้เคยรับรู้มา แต่ก็เป็นปมปัญหา ที่น่าสนใจน่าศึกษากันต่อไป เกี่ยวกับระบบการศึกษาในสมัย สมเด็จพระนารายณ์ฯ
จินดามณี แบบเรียนเล่มแรกในสยาม ?
"จินดามณีเป็นตำราเรียนหนังสือไทย แต่งไว้พิสดารตั้งแต่หัดอ่าน จนถึง แต่งโคลงฉันท์กาพย์กลอน บอกไว้ในตำนานนั้นว่า พระโหราจารย์ชาวเมืองโอฆบุรี (คือเมืองพิจิตร) เป็นผู้แต่งและมีหนังสือเรื่องหนึ่ง คือ พระราชพงศาวดาร (ซึ่งหอ สมุดฯ สมมติชื่อเรียกว่า "ฉบับหลวงประเสริฐ" นั้น) ในบางแผนกข้างต้นว่า สมเด็จ พระนารายณ์ ดำรัสสั่งให้พระโหราฯ แต่งขึ้น เมื่อพุทธศักราช 2223 เป็นสันนิษฐาน ว่า สมเด็จพระนารายณ์ฯ คงโปรดฯ ให้พระโหราฯ คนเดียวกัน แต่งทั้งหนังสือ จินดามณี และหนังสือพระราชพงศาวดาร นอกจากนี้ยังมีเค้าเงื่อนที่จะสันนิษฐาน ต่อไปอีกข้อหนึ่งว่า เพราะเหตุใดสมเด็จพระนารายณ์ฯ จึงมีรับสั่งให้พระโหราฯ แต่งหนังสือสองเรื่องนั้น ด้วยปรากฏในเรื่องพงศาวดารรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ฯ ว่า เมื่อพวกบาทหลวงฝรั่งเศสแรกเข้ามาตั้งสอนศาสนาคริสตังในพระนครศรีอยุธยา นั้น มาตั้งโรงเรียนขึ้นสำหรับสอนหนังสือแก่เด็กไทยด้วย อาศัยเหตุนั้น เห็นว่า คงเป็นเพราะสมเด็จพระนารายณ์ฯ ทรงพระราชดำริว่า ถ้าฝ่ายไทยเอง ไม่เอาธุระ จัดบำรุงการเล่าเรียนให้รุ่งเรือง ก็จะเสียเปรียบฝรั่งเศส พระโหราฯ คงเป็นปราชญ์ มีชื่อเสียงว่าเชี่ยวชาญอักขรสมัยอยู่ในครั้งนั้น สมเด็จพระนารายณ์ฯ จึงมีรับสั่ง ให้เป็นผู้แต่งตำราสอนหนังสือไทยขึ้นใหม่ ส่วนการที่โปรดฯ ให้แต่งหนังสือ พระราชพงศาวดารนั้น จะเป็นแต่งหนังสือเรียนหรือแต่งสำหับให้เป็นความรู้ แก่พูต่างประเทศ ที่เข้ามาในครั้งนั้น ก็อาจเป็นได้ ทั้งสองสถาน แต่ควรฟังเป็นยุติ ได้ว่า การที่กวดขันให้ลูกผู้ดีเล่าเรียนหนังสือไทยคงเริ่มขึ้น ในรัชกาลสมเด็จ พระนารายณ์ฯ..."
(สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายไว้ใน "บันทึกสมาคมวรรณคดี" ปีที่ 1 เล่มที่ 5 พุทธศักราช 2475)
|
และ "จินดามณี" นี้เอง ที่มีความเชื่อกันว่า เป็นแบบเรียนเล่มแคกของไทย และเป็นแม่บทของแบบเรียนสมัยต่อ ๆ มาอีกหลายเล่ม ซึ่งใช้กันอย่างแพร่หลาย มาตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์
แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ก็ยังมีนักปราชญ์ นักประวัติศาสตร์อีกหลายท่าน ที่มีความคิดแตกต่างไปจากนี้
นั่นก็คือ ปัญหาที่มีผู้พยายามขบคิดหาความจริงว่า
"จินดามณี เป็นแบบเรียนเล่มแรกของไทยจริง ๆ หรือ ?"
ซึ่งทรงวิทย์ ดลประสิทธิ์ ได้ตั้งคำถามเอาไว้ในบทความเรื่อง จินดามณี "ตำรา" เล่มแรกจริงหรือ? (ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 2 ฉบับที่ 7 พฤษภาคม 2524) ดังนี้
"...ถ้าหากเป็นตำราเล่มแรกจริงแล้ว หมายความว่า ก่อนหน้านั้น ไม่มีตำราหรือ?
"ในเมื่อไม่มีตำรามาก่อน ถ้าเช่นนั้นคนไทยก่อนสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ เรียนหนังสือด้วยวิธีการเช่นไรไ
"คำว่า "ตำรา" มีความหมายกว้างขวางคับแคบแค่ไหน? เพราะเรามีตำรายา ตำราหมอดูอะไรต่อมิอะไรจิปาถะ กระทั่้งตำรับพิชัยสงคราม ซึ่งเชื่อกันว่า มีมาแต่ครั้งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ หรือครั้งสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 เป็นอย่างน้อย
"ถ้าหากจินดามณีเป็น "ตำราภาษาไทย" ทีนี้การเรียนรู้อักษรไทย หรือการเรียนรู้ การแต่งโคลงฉันท์กาพย์กลอนก่อนหน้าสมเด็จพระนารายณ์มหาราชล่ะเป็นอย่างไร
"ท้ายที่สุดสมมติว่า จินดามณีเป็นตำราภาษาไทยเล่มแรกแล้ว ข้อสงสัยมีอยู่ว่า เป็นตำราสอนใคร?"
ซึ่งในเรื่องนี้ (ในบทความเรื่องเดิมของคุณทรงวิทย์) ได้มีการถามความเห็น จากนักวิชาการ นักประวัิติศาสตร์ นักภาษาศาสตร์ หลายท่านดังนี้
ศาสตราจารย์ ดอกเตอร์ ประเสริฐ ณ นคร ผู้เชี่ยวชาญทางจารึกภาคเหนือ และ ด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี และหนึ่งในคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ ได้มีความเห็นว่า
"ที่ว่า หนังสือจินดามณี เป็นแบบเรียนเล่มแรกนะครับ ผมเข้าใจว่า สมัยก่อน คือ สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้น พวกฝรั่งต่างชาติ เข้ามาติดต่อค้าขาย และมีสัมพันธไมตรีกันนั้น พวกฝรั่งเขาคงถามคนไทยว่า เมืองไทย มีประวัติศาสตร์ไหม อะไรทำนองนี้ เมื่อยังไม่มีประวัติศาสตร์ ไม่มีตำราเรียน ที่จะอ้างพวกฝรั่งเขาได้ สมเด็จพระนารายณ์ฯ ท่านก็ทรงโปรดฯ ให้มีการเขียนพงศาวดารขึ้นมา เป็นฉบับหลวงประเสริฐ"
"...พอต่อมาท่านจึงโปรดเกล้าฯ ให้พระโหราธิบดี แต่งหนังสือจินดามณี เืพื่อเป็นตำราเรียนของเราขึ้นมาอย่างที่พอมีหลักฐานเหลืออยู่ คือพอจะทำให้ฝรั่ง เขาเชื่อถือได้ว่า ไทยเรามีตำราเรียนเหมือนกัน
"ทีนี้จะเชื่อว่า จินดามณี เป็นตำราเล่มแรกของเราได้หรือไม่นั้น ก็เป็นที่ยอมรับกัน ในนักศึกษาผู้ใหญ่ ๆ เพราะท่านมีหลักฐานมาอ้างมายืนยันไว้ เราก็รับฟังไว้ก่อน เพราะเราเองก็ยังหาหลักฐานมาหักล้าง มาขัดแย้งไม่ได้ ซึ่งอันนี้ต้องใช้เวลา พอสมควร"
"อย่าเพิ่งให้ผมสรุปเลยนะครับ ผมว่าเอาไว้ให้เราค้นหาหลักฐานมาได้ เป็นที่แน่นอนดีกว่า จึงค่อยนำมาศึกษามาอ้างมายืนยันว่า จินดามณี ไม่ได้ เป็นตำราเล่มแรก"
อาจารย์เปลื้อง ณ นคร (นายตำรา ณ เมืองใต้) ผู้เชี่ยวชาญภาษาไทย มีความเห็นว่า
"หนังสือจินดามณีที่ว่าเป็นตำราเล่มแรกของไทยนั้น ก็ตามเรื่องตามหลักฐาน มันไม่มีเล่มอื่นนี่ สารานุกรมเขาอธิบายเอาไว้ละเอียดมาก โดยเฉพาะหลักฐาน ฉบับพระโหราธิบดี และอีกเล่มก็ของกรมหลวงวงศาธิราชสนิท ในรัชกาลที่ 3"
"หนังสือเก่าก่อนจินดามณี เราก็ยังไม่พบ"
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ร้อยเอก เสนีย์ วิลาวรรณ อดีตหัวหน้า ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ให้ทรรศนะว่า
"เรื่องหนังสือจินดามณีนี่ เขาก็เชื่อมาอย่างนั้นนะ เพราะมันมีหลักฐานอยู่แล้ว ก่อนหน้านั้นมันไม่มี แต่เท่าที่มีการตรวจ การค้นพบ มันไม่น่าจะมีแค่นั้น..."
"เรื่องจินดามณีว่าเป็นเล่มแรกนี่ ผมไม่อยากเชื่อเลย แต่มันก็ไม่มีหลักฐาน"
อาจารย์ ภิญโญ ศรีจำลอง กวีร่วมสมัย และนักวิชาการ กองวรรณคดี และประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร แสดงความเห็นว่า
"...ผมเชื่อว่าเป็นตำราเล่มแรกของไทยนะครับ โดยเฉพาะวิชาภาษาไทยของเรา"
"ก็มันมีหลักฐานนี่ครับ ปรากฏอยู่ในพงศาวดาร เล่มใดผมจำไม่ได้"
การแสดงความเห็นในเรื่องนี้ ค่อนข้างแตกแจกออกไป มีทั้งผู้ที่เชื่อว่า "จินดามณี" เป็นแบบเรียนหรือตำราเล่มแรกของเมืองไทย ทั้งสองฝ่าย ต่างก็มีข้อคิดเห็นรองรับความเชื่อของตนต่างกันไป แต่ก็ยังหาบทสรุปไม่ได้ว่า
"จินดามณี เป็นแบบเรียนเล่มแรกจริงหรือไม่ และถ้าไม่ใช่ หนังสืออะไร คือ แบบเรียนเล่มแรกของไทยเรา"
|  |
หนังสือจินดามณี
|
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
|
รัชกาลที่ 5 ผู้ทรงพัฒนาการศึกษาไทย อย่างเป็นระบบ
|
ครั้นมาถึงตอนปลายกรุงศรีอยุธยา ก่อนที่จะเสียกรุงฯ ครั้งที่ 2 ในปีพุทธศักราช 2310 เรื่อยมาจนถึงกรุงธนบุรี และในสมัยต้น กรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อได้มีการกู้อิสรภาพ บ้านเมืองคืนสู่สันติสุข อีกครั้ง ระบบการศึกษาก็เริ่มเข้ารูปเข้ารอยกลับมาเป็นอย่างเดิม เหมือนในสมัยกรุงศรีอยุธยาอีกครั้ง
"วัด" ยังคงเป็นสถานศึกษาสำคัญของคนไทยอยู่เช่นเดิม ไม่ว่าจะเป็นคนระดับไหน ควบคู่ไปกับการศึกษาในวัง และตามบ้านขุนนาง บ้านคหบดี
ความสำคัญของวัดในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เราจะเห็นได้จาก การที่บุคคลสำคัญ ๆ กวีที่มีชื่เสียงในยุคนั้น เล่าเรียนศึกษา มาจากวัดด้วยกันแทบจะทั้งหมด อย่างสุนทรภู่ ก็เรียนหนังสือ ที่วัดชีปะขาว ในคลองบางกอกน้อย พระเทพโมลี ศึกษาที่วัดพลับ (วัดราชสิทธาราม) ธนบุรี สมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ก็นักศึกษา มาจากสำนักวัดโพธิ์ (วัดพระเชตุพนฯ) แม้องค์พระบาทสมเด็จ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ก็ทรงเป็นศิษย์ของพระพุทธโฆษาจารย์ วัดโมฬีโลกยาราม
วัด ยังคงเป็นสถานที่ให้การศึกษาทั้งด้านหนังสือ จริยศึกษา พุทธิศึกษาและวิชาชีพ ไม่ว่าจะเป็นโหราศาสตร์ การช่าง หมอยา หมอสมุนไพร เช่นเดียวกันกับในสมัยอยุธยา
ครั้งถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงได้เกิดสถานศึกษาเพิ่มขึ้นอีกแห่ง นอกเหนือไปจากวัด สถานที่นั้น ก็คือ "โรงทาน"
ซึ่งมีกำเนิดมาจากการที่กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ สมเด็จพระราชวังบวร (สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ) ทรงตั้งโรงทานสำหรับเลี้ยงอาหารพวกคนยากจนขึ้น ที่พระบวรราชวัง (วังหน้า) ถึงวันพระ ก็ทรงปล่อยสัตว์และแจกเงิน คนเฒ่าคนแก่ สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงโสมนัส และทรงโปรดฯ ให้ตั้งโรงทานเช่นนั้นขึ้นที่วังหลวง เรียกกันว่า "โรงทานหลวง" มีการจัดทำอาหารคาวหวาน เลี้ยงพระภิกษุ สามเณร และบรรดาข้าราชการที่มาอยู่เวรในพระบรมมหาราชวัง และยังมีการบริจาคพระราชทรัพย์เป็นทานแก่คนชรา และคนพิการ อีกด้วย จากนั้น ก็ใช้สถานที่นี้ เป็นที่สำหรับพระสงฆ์ แสดงพระธรรมเทศนา และสอนหนังสือให้กับคนทั่ว ๆ ไป
|