|
ต่อมาในแผ่นดินสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ความสำคัญ ของวัดในฐานะสถานศึกษา ได้เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก เนื่องมาจาก พระองค์ท่านทรงมีพระราชศรัทธาแก่กล้าในพระพุทธศาสนา ตั้งแต่ ยังไม่ได้ครองราชสมบัติ เมื่อทรงครองราชสมบัติแล้ว ได้ทรงบุรณะ ปฏิสังชรณ์วัด ทั้งในและนอกพระนครถึง 35 วัด และทรงโปรดเกล้าฯ สร้างขึ้นใหม่ 4 วัด นอกจากนี้ พวกเจ้านาย และขุนนางยังได้สร้างวัด-ปฏิสังขรณ์วัด ทั้งที่ได้ทูลเกล้าฯ ถวาย และไดม่ได้ทูลเกล้าฯ ถวายอีกมากกว่า 20 แห่ง จนถึงกับมีคำว่า ในรัชกาลที่ 3 ว่า "ถ้าใครสร้างวัด จะเป็นคนโปรด"
ในด้านพระพุทธศาสนาได้มีการสอบไล่พระปริยัติธรรม อย่างจริงจัง โปรดฯ ให้สถาปนา "โรงเรียนสอนพระปริยัติธรรม" กสำหรับภิกษุสามเณรขึ้นในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ปรากฏว่า มีพระภิกษุสามเณรสอบได้เปรียญเอก โท ตรี ในแต่ละคราว เป็นจำนวนมาก
ใช่แต่แค่นั้น ยังได้ทรงมีพระราชดำริว่า ในเรื่องของวิชาชีพ อื่น ๆ ยังไม่มีสถานที่จะศึกษาเล่าเรียนกันได้ ส่วนใหญ่ จะมีการสอนกันภายในครอบครัวหรือในวงศ์สกุล ไม่เป็นที่แพร่หลาย และคนไทยก็มีนิสัยหวงแหนวิชาความรู้ ที่ตนมีอยู่ ไม่ใคร่จะถ่ายทอดให้เป็นวิทยาทานแก่คนทั่วไป จึงเป็นเหตุให้วิทยาการหลายอย่างมีอันต้องสูญหายไป อย่างน่าเสียดาย
ดังนั้นในคราวที่ทรงโปรดฯ ให้มีการปฏิสังขรณ์วัดโพธิ์ (วัดพระเชตุพนฯ) ขึ้น จึงทรงโปรดฯ ให้ประชุม นักปราชญ์ราฃบัณฑิต ผู้เชี่ยวชาญในวิชาการต่าง ๆ มาร่วมแรง ร่วมใจกัน ทำการจารึกวิชาการต่าง ๆ เอาไว้ โดยที่ก่อนจะดำเนินการจารึกวิชาการต่าง ๆ นั้น ก็ให้ผู้รู้ ที่จะมาร่วมในการถ่ายทอดความรู้ลงบนแผ่นศิลา ทำการสาบานตนเสียก่อนว่า จะไม่มีการปกปิด หรือทำให้วิชาความรู้นั้นวิปลาสไปจากที่เป็นจริง วิชาการ ทีทรงให้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญในครั้งนั้นก็มี อาิทิ วิชาอักษรศาสตร์ แพทยศาสตร์ คชศาสตร์ เครื่องประกอบพระราชพิธีต่าง ๆ ขนบประเพณี การช่างต่าง ๆ เป็นต้น โดยให้นำเอาวิชาการ ที่ได้รวบรวมผู้รู้มานั้น มาทำการจารึกลงบนแผ่นศิลา ทำเป็นรูปปั้น ประกอบคำอธิบาย และเขียนเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนัง เพื่อเป็นการสืบทอดวิชาความรู้ต่อไปในภาคหน้า มิให้สูญหายไป
อุบัติการณ์แห่งแบบเรียนภาษาไทย
จากที่ทราบกันมาแต่เดิมว่า "จินดามณี" เป็นแบบเรียนเล่มแรก ของสยามประเทศดังกล่าวมาแล้ว เมื่อเวลาผ่านมา มากกว่าศตวรรษ ก็ได้เกิดแบบเรียนขึ้นใหม่อีก 2 เล่ม คือ
หนังสือประถม ก กา และ หนังสือ ประถม มาลา
เล่มแรกที่จะกล่าวถึงคือ "หนังสือประถม ก กา" ซึ่งที่มาของหนังสือเล่มนี้ ยังเป็นปัญหาอยู่มาก เนื่องจากยังไม่สามารถบอกได้ว่า "ใครเป็นผู้แต่ง และแต่งขึ้นเมื่อใดแน่?" ซึ่งบางข้อมูล ก็ระบุว่า แต่ในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี แต่ก็ไม่มีหลักฐานที่แน่นอนใด ๆ มายืนยันได้ ถึงอย่างก็ตาม ไม่น่าจะเกินรัชกาลที่ 3
หนังสือประถม ก กา นี้ เป็นแบบหัดอ่านเบื้องต้น ตั้งแต่สอนแจกลูก และคำกาพย์ว่าด้วยแม่ต่าง ๆ แยกออกเป็นแม่ ๆ เริ่มต้นจากการแจกลูก แม่ ก กา แม่ กก แม่ กง แม่ กด จนถึงแม่เกอย เมื่อแจกลูกจบไปแม่แม่หนึ่งแล้ว ก็จะมีการนำเอาคำในแม่นั้น มาแต่งเป็นกาพย์ กลอน ต่อจากนั้น ก็จะเป็นการอธิบายถึงเรื่อง คำกล้ำ คำควบ และการแบ่งเป็นอักษรสูง อักษรกลาง อักษรต่ำ รวมทั้งเครื่องหมายต่าง ๆ ซึ่ง "พงศ์อินทร์ ศุขขจร" ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้เอาไว้ในหนังสือ "ประวัติศาสตร์การศึกษาไทย" ว่า
"ผู้แต่งหนังสือเล่มนี้ เป็นผู้ที่มีคุณลักษณะเป็นนักการศึกษา เข้าใจหลักจิตวิทยาของเด็กดี จึงได้คัดสิ่งที่ฟุ่มเฟือย ไม่จำเป็นออกเสีย ทำให้เรียนได้เร็วเข้าเหมาะสำหรับเรียนในชั้นต้น สอนสิ่งที่พึงปฏิบัติและสิ่งที่พึงละเว้นไม่ควรกระทำ เท่ากับเป็นการสอนจรรยามารยาทไปในตัว..."
ส่วน หนังสือประถม มาลา ถึงแม้ว่าจะไม่ปรากฏว่า ใครเป็นผู้แต่ง และแต่งขึ้นเมื่อใดก็ตาม แต่ก็มีข้อสันนิษฐาน จากท่านผู้รู้มาว่า น่าจะแต่งขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ โดยมี พระเทพโมฬี (พึ่ง) วัดราชบูรณะ เป็นผู้แต่งขึ้น
โดยแต่งเป็นกาพย์ สอนการอ่านการเขียน ตั้งแต่ แม่ ก กา กน กง กก กด กบ กม และเกอย นอกจากนี้ ยังมีการสอนการอ่านเขียน หนังสือขอม ตลอดจนการสอนวิธีแต่งโคลงสุภาพ โคลงกระทู้ อีกด้วย
หนังสือประถม มาลา นี้ นอกจากวิธีการแต่ง จะมีความไพเราะ มากแล้ว ยังให้แง่คิดทางจิตวิทยากับเด็กอีกด้วย ถือได้ว่า เป็นตำราเรียนที่ถือว่าดีเยี่ยมเล่มหนึ่ง
โฉมหน้าใหม่ของการศึกษาไทย
สืบเนื่องจากการที่มีฝรั่งชาวต่างประเทศ ได้เริ่มเข้ามาติดต่อ ทางสัมพันธไมตรี ทางการค้า และเข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ ตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 3 ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ วิทยาการต่าง ๆ ของชาวตะวันตก ก็ได้เข้ามาเผยแพร่มากขึ้น เริ่มมีการสอนหนังสือภาษาอังกฤษ ขึ้นในพระบรมมหาราชวังแก่เชื้อพระวงศ์ฝ่ายใน และนอกจากนี้ ยังมีการเรียนวิชาการต่าง ๆ เช่น การต่อเรือกำปั่น วิชาแพทย์ วิชาเครื่องจักรกล การเดินเรือ และการถ่ายภาพ เป็นต้น
ในขณะเดียวกัน ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ นั่นเอง คณะมิชชั่นนารีโดยการนำของหมอบรัดเล ได้นำเอาการพิมพ์หนังสือ และเครื่องพิมพ์เข้ามาในประเทศสยาม จึงได้มีการพิมพ์หนังสือภาษาไทยขึ้น ออกจำหน่ายจ่ายแจก แก่ประชาชนทั่วไป และแบบเรียนภาษาไทยอย่าง จินดามณี ประถม ก กา ประถม มาลา ก็ได้ถูกจัดพิมพ์ขึ้นด้วย ดังนั้น การศึกษาจึงได้แพร่หลาย และสะดวกขึ้นกว่าที่เจยเป็นมา
โรงสกูลหลวง
หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ทรงขึ้นครองราชสมบัติ ในปีพุทธศักราช 2411 ต่อมาอีกไม่กี่ปี ในปีพุทธศักราช 2414 พระองค์ท่านได้โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนขึ้นเป็นครั้งแรกในสยาม สถานที่ดังกล่าวนี้ ่คือ โรงสกูลหลวง (โรงเรียนหลวง) และ โรงเรียนหลวงสอนภาษาอังกฤษ
โรงสกูลหลวง นี้ตั้งอยู่ข้างโรงละครเก่าในสนาม ต่อระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ท่างด้านทิศตะวันตก โดยผู้ที่ทำหน้าที่เป็นครูใหญ่คนแรกก็คือหลวงสารประเสริฐ ปลัดกรมอาลักษณ์ (นามจริง "น้อย อาจารยางกูร ต่อมา ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น "พระศรีสุนทรโวหาร") และโปรดฯ ให้ตั้งโรงเรียนหลวงสอนภาษาอังกฤษสำหรับสอนภาษาอังกฤษ ให้กับสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ และหม่อมเจ้าต่างกรม ที่ทรงได้เรียนภาษาไทยแล้ว โดยตั้งอยู่ที่ตึกสองชั้น ข้างประตูพิมานไชยศรี ด้านทิศตะวันออก มีนายฟรานซิส ยอร์ช แปเตอร์สัน เป็นครูผู้สอน
อนึ่ง โรงเรียนทั้งสองนี้ ตั้งอยู่ในบริเวณของกรมมหาดเล็ก และขึ้นกับกรมมหาดเล็กหลวงเช่นเดียวกัน
ต่อมาเมื่อนาย ฟรานซิส ยอร์ช แปเตอร์สัน ครูสอนภาษาอังกฤษ กราบทูลฯ ขอลากลับยุโปร ในปีพุทธศักราช 2419 โรงเรียนสอนภาษาอังกฤษ จึงต้องเลิกไป จนกระทั่งในปี พุทธศักราช 2422 จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษขึ้นมาใหม่ ณ พระราชวัง นันนทอุทยาน เรียกชื่อว่า "โรงเรียนนันทอุทยาน" หรือ "โรงเรียนสวนนันทอุยาน" โดยโปรดฯ ให้หมอแมคฟาร์แลนด์ (S.G. Mc. Farland) มิชชั่นนารีชาวอเมริกัน ทำหน้าที่เป็นครูใหญ่ และมีคณะกรรมการคณะหนึ่ง จำนวน 8 ท่าน ทำหน้าที่ควบคุม ดูและจัดการ และนี่คือกำเนิด "โรงเรียน" ที่มีคุณลักษณะ เป็นโรงเรียนอย่างแท้จริง แทนการเรียนตามวัด หรือบ้าน อย่างที่เคยเป็นมา
ต่อมาในปีพุทธศักราช 2424 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร (สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ) ผู้บังคับการทหารมหาดเล็ก ตั้งโรงเรียนขึ้นมาสำหรับฝึกสอนผู้ที่จะเป็นนายร้อยนายสิบ ในกรมมหาดเล็ก ครั้นจำนวนนักเรียนมากขึ้น ทำให้ห้องเรียน ในโรงทหารมหาดเล็กคับแคบขึ้น จึงทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทาน พระตำหนักเดิมที่สวนกุหลาบ ที่เคยใช้เป็นคลังอยู่นั้น เป็นที่ตั้งโรงเรียนมหาดเล็ก
ครั้นโรงเรียนตั้งมาได้ปีหนึ่ง จำนวนนักเรียนมากขึ้น จนเกินอัตราที่ต้องการฝึกหัดเอาไว้สำหรับเป็นนายทหารมหาดเล็ก จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการจัดระเบียบและแก้ไขโรงเรียน พระตำหนักสวนกุหลาบเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือน แต่เนื่องจากพระตำหนักสวนกุหลาบ มีที่ไมีเพียงพอสำหรับนักเรียน จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างตึกยาวสองชั้นทางทิศใต้ ของพระบรมราชวัง ใช้เป็นสถานที่เรียนเพิ่มขึ้น
ดังนั้น กว่าการตั้งโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ สำเร็จบริบูรณ์ได้ ก็ล่วงเข้าปีพุทธศักราช 2427
แต่เนื่องจากโรงเรียนที่กล่าวมาแล้วนี้ทั้งหมด เป็นสถานศึกษา สำหรับผู้ที่เป็นชายเท่านั้น ต่อมาพระองค์เจ้าดิศวรกุมาร จึงทรงจัดให้พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์หญิง ทรงเล่าเรียนหนังสือไทยที่ตึกข้างประตูพิมานไชยศรี ด้านตะวันออก ดดยใช้ครูจากโรงเรียนหลวงนั้น มาสอนเป็นเวลา
สำหรับการเล่าเรียนในโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบนี้ ใช้แบบเรียนหลวง 6 เล่ม ซึ่งพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) รวบรวมขึ้น อันได้แก่ หนังสือมูลบทบรรพกิจ วาหนิตนิกร อักษรพิโยค สังโยคพิธาน ไวพจน์พิจารณ์ และ พิศาลการันต์
แต่เนื่องจากแบบเรียนหลวงทั้ง 6 เล่ม ที่ใช้เรียนในโรงเรียน พระตำหนักสวนกุหลาล ปรากฏว่า นักเรียนน้อยคนนัก ที่จะเรียนได้ครบทั้งหมด ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลานานมากกว่าที่จะมี ผู้เรียนจบ บางคนเรียนได้เพียงสามเล่ม ก็ต้องออกมารับราชการ เสียแล้ว เนื่องจาก กระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ ที่ตั้งขึ้นใหม่ กำลังต้องการผู้มีความรู้เข้ารับราชการเป็นจำนวนมาก จึงได้มีการประชุมผู้ชำนาญการสอนหนังสือ อย่างเช่น พระยาศรีสุนทรโวหาร หลวงโอวาทวรกิจ (พระยาโอวาทวรกิจ-แม่น) อาจารย์ใหญ่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ เป็นต้น
ที่ประชุมได้ตกลงว่า ควรมีการสอบไล่หนังสือทำนองเดียวกับ พระสงฆ์สอบพระปริยัติธรรม เมื่อสอบไล่ได้ ก็จะมีการออกใบสำคัญรับรองความรู้ชั้นที่สอบได้ จึงได้มีการนำความขึ้นกราบทูล ก็ทรงพระราชดำริเห็นชอบด้วย การสอบไล่ความรู้ทางหนังสือในประเทศไทย จึงเกิดขึ้นนับแต่นั้นมา
โรงเรียนหลวงสำหรับราษฎร
ในปี 2427 ที่ได้มีการตั้่งโรงเรียนเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ นั่นเอง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ได้ทรงเล็งเห็นความสำคัญ ในการจะวางรากฐานการศึกษา ของประเทศ จึงทรงโปรดฯ ให้มีการตั้งโรงเรียนหลวง สำหับราษฎร ขึ้นตามวัดหลายแห่งทั้งในพระนคร และตามหัวเมืองสำคัญ ๆ ดังนั้น โรงเรียนหลวงสำหรับราษฎรแห่งแรกจึงถือกำเนิดขึ้น ที่กรุงเทพฯ นี่เอง ณ วัดมหรรณพาราม ถนนตะนาว ตำบลเสาชิงช้า อำเภอพระนคร โรีงเรียนหลวงสำหรับราษฎร แห่งแรกนี้ ก็คือ "โรงเรียนวัดมหรรณพาราม" หรือ "โรงเรียนวัดมหรรณพ์"
โรงเรียนสตรีแห่งแรก
ส่วนในเรื่องการศึกษาของหญิงไทย แต่เดิมไม่นิยม ที่จะให้สตรี เล่าเรียนทางหนังสือ นอกจากจะเรียนรู้ในเรื่อง ของการบ้านการเรือน เท่านั้น จะมีสตรีที่เล่าเรียนความรู้ ในด้านหนังสืออยู่บ้าง ก็เฉพาะสตรีชั้นสูงในรั้วในวังเท่านั้น จนกระทั่งมาถึงยุคสมัยของกรุงรัตนโกสินทร์ ภายหลังรัชกาลที่ 4 จึงได้มีการยอมรับที่จะให้สตรีสามัญ สามารถเล่าเรียนทางหนังสือ เกิดขึ้น
ในปีพุทธศักราช 2417 โรงเรียนสตรีแห่งแรกในประเทศสยาม จึงเกิดขึ้น โดยคณะมิชชั่นนารีชาวอเมริกันได้ก่อตั้ง "โรงเรียนกุลสตรีวังหลัง" ขึ้น ซึ่งต่อมาโรงเรียนแห่งนี้ ก็คือ "โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย" ในเวลานี้
จากนั้น ก็ได้เกิดโรงเรียนสำหรับสตรีขึ้นอีกหลายแห่ง ดังนี้
พุทธศักราช 2423 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้ง "โรงเรียนสุนันทา" ขึ้น ที่ปากคลองตลาด เพื่อเป็นอนุสาวรีย์ แด่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทา กุมารีรัตน์ แต่ตั้งอยู่ไม่นาน โรงเรียนประจำสำหรับสตรีแห่งแรก ที่คนจัดตั้งขึ้น ก็มีอันต้องเลิกล้มไป
พุทธศักราช 2440 สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง "โรงเรียนเสาวภาผ่องศรี" ขึ้น จากพระนามเดิมของพระองค์ ตรงบริเวณที่เป็นวัง ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ข้างโรงเรียนราชินี ปากคลองตลาดในเวลานี้ ซึ่งโรงเรียนแห่งนี้ เป็นโรงเรียนไป-กลับ
พุทธศักราช 2444 เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม "โรงเรียนบำรุงสตรีวิชา" โรงเรียนสตรีของรัฐบาลแห่งแรก เปิดทำการสอน สถานที่ตั้งของโรงเรียนแห่งนี้ก็คือ บ้านเดิมของขุนหลวงพระยาไกรสีห์ (เปล่ง เวภาระ) ที่ตำบลบ้านหม้อ (โรงเรียนเสาวภาผ่องศรีในปัจจุบัน)
พุทธศักราช 2448 สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ได้โปรดฯ ให้ตั้งโรงเรียนสตรีขึ้นอีกแห่งหนึ่ง ที่ตรงบริเวณตึก มุมถนนอัษฎางค์ กับถนนจักรเพชร ตำบลปากคลองตลาด แล้วพระราชทานนามว่า "โรงเรียนราชินี" แต่ในเวลาต่อมา ได้ย้ายไปอยู่ที่ข้างวังหน้า ข้างวังพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ ตรงข้ามกับโรงพยาบาลทหารบก ที่ถนนพระอาทิตย์ จนถึงปี พุทธศักราช 2449 จึงย้ายมาอยู่ที่ตึก สุนันทาลัย ปากคลองตลาด หรือในสถานที่ตั้งปัจจุบันนี้เอง
ส่วนโรงเรียนเสาวภา นั้นต่อมาได้ยับมารวมกับโรงเรียน บำรุงสตรีวิชา กลายมาเป็น "โรงเรียนเสาวภา" ในเวลาต่อมา
กว่าจะเป็นกระทรวงธรรมการ
ในขณะที่การศึกษาเริ่มขยายตัวออกไปนั้น กรมมหาดเล็กหลวง ยังมีหน้าที่ในการดูแลเรื่องการจัดการโรงเรียนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ในเวลานั้น ทั้งที่เป็นโรงเรียนสำหรับพลเรือน และของฝ่ายทหาร จึงทรงมีพระราชดำริว่า ถึงเวลาอันสมควรแล้ว ที่จะแยกการจัดการ โรงเรียนออกจากกรมมหาดเล็ก จัดเป็นกรมหนึ่ง ในส่วนราชการ ฝ่ายพลเรือนขึ้นมาต่างหาก ดังนั้น จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรมศึกษาธิการขึ้น แล้วโปรดฯ ให้โอนโรงเรียนทั้งปวง ที่มีอยู่ในเวลานั้นมาขึ้นกับกรมศึกษาธิการ ไม่ว่าจะเป็น โรงเรียน พระตำหนักสวนกุหลาบ โรงเรียนสวนนันทอุทยาน โรงเรียนกรมแผนที่ โดยมีที่ทำการของกรมศึกษาธิการ ตั้งอยู่ที่ตึกยาว ข้างประตูพิมานไชยศรี ด้านตะวันออก
โดยทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีประกาศตั้ง "กรมศึกษาธิการ" เป็นกรมอิสระขึ้น เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2430
ในเวลาต่อมาอีกสองปี ในปีพุทธศักราช 2432 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้กรมศึกษาธิการไปรวมกับกรมอิสระอื่น ๆ อาทิ กรมแผนที่ กรมพยาบาล และกรมพิพิธภัณฑ์ แล้วยกฐานขึ้นเป็น "กระทรวงธรรมการ" แต่ยังให้เรียกชื่อว่า "กรมธรรมการ" ไปก่อน และโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ ทำหน้าที่เป็นอธิบดีบัญชากระทรวง
จนเมื่อวันที่ 1 เมษายน พุทธศักราช 2435 จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีประกาศตั้ง "กรมธรรมการ" ขึ้นเป็น "กระทรวงธรรมการ" แล้วทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาภาสกรวงศ์ (เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ - พร บุนนาค) เสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ มาทำหน้าที่ เป็นเสนาธิการกระทรวงธรรมการคนแรก
นับตั้งแต่นั้นมา ระบบการศึกษาของประเทศ ก็ได้มีการพัฒนา เปลี่ยนแปลงมาเรื่่อย อย่างเช่น
การที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้ง "โรงเรียนข้าราชการพลเรือน" ขึ้นมา เพื่อฝึกคนเข้ารับราชการตามกระทรวงต่าง ๆ ในปี พุทธศักราช 2453 และต่อมาในปีพุทธศักราช 2459 พระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานขึ้นเป็น "จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย" มหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย (ที่เป็นรูปแบบมหาวิทยาลัย ทั่วไป แต่ถ้าหมายถึงสถานที่รวบรวมวิชาการทุกสาขาไว้ วัดโพธิ์ หรือ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ได้ชื่อว่าเป็น มหาวิทยาลัย แห่งแรก ของไทย)
ปีพุทธศักราช 2464 ประกาศ "พระราชบัญญัติประถมศึกษา พุทธศักราช 2464" บังคับให้เด็กเข้าเกณฑ์เรียนหนังสือ ตั้งแต่อายุ 7 ขวบ และอยู่ในโรงเรียนจนถึงอายุ 14 ปีบริบูรณ์ โดยไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน
ปีพุทธศักราช 2475 ทรงโปรดเกล้า่ฯ ให้ตั้ง "สภาการศึกษา" ขึ้น
"กระทรวงธรรมการ" เปลี่ยนชื่อมาเป็น "กระทรวงศึกษาธิการ" ในปีพุทธศักราช 2484 (ซึ่งเคยเปลี่ยนชื่อเป็น "กระทรวงศึกษาธิการ" ครั้งหนึ่งแล้ว และก่อนปีพุทธศักราช 2484 ก็ได้กลับมาใช้ว่า "กระทรวงธรรมการ" ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงอีกในครั้งนี้)
ตั้ง "กรมการฝึกหัดครู" ขึ้นในปี พุทธศักราช 2497
ตั้ง "ทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐ" ในปี พุทธศักราช 2417 ก่อนจะยุบรวมเข้ากับกระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบัน ฯลฯ
ที่มา : นิตยสาร สยามอารยะ
![]() | |||||||||||||||
วันอังคารที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2557
ตำนานการศึกษาในสยาม
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น